Blog

Garlic

กระเทียม สิ่งคู่ควรกับ คนไทย

กระเทียม สิ่งคู่ควรกับ คนไทย

กระเทียม (Garlic) (ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Allium sativum) เป็นพืชที่อยู่คู่กับอาหารเกือบทุกชนิดที่คนไทยรับประทานกัน ถือได้ว่าเป็นหัวใจหลักของอาหารไทย   ประโยชน์หลักในทางตรงคือเป็นเครื่องเทศในการทำอาหารคาวได้มากมายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ต้ม ผัด แกง ทอด และน้ำพริก ส่วนประโยชน์ในทางอ้อมก็คือสรรพคุณในด้านยาและป้องกันรักษาโรค ซึ่งคนไทยจะรู้จักในด้านอาหารมากกว่าด้านยา แต่ในโลกสากลส่วนมากจะรู้ในด้านสมุนไพรหรือยามากกว่าอาหาร ซึ่งกระเทียมมีสรรพคุณทางยาทั้งในด้านรักษาโรคและป้องกันโรคมากมายเลยทีเดียว

ลักษณะ   หัวใต้ดิน ลักษณะกลมแป้น มีเยื่อหุ้มสีขาวหนา แต่ละหัวประกอบด้วยหลายกลีบรวมกัน มีประมาณ 6-10 กลีบ แต่ละกลีบรูปรี ยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร มีใบแบบ scale leaf หุ้ม เป็นลักษณะเยื่อบางสีขาวหรือสีขาวอมม่วง หุ้มอยู่ 2-3 ชั้น ซึ่งแยกออกจากส่วนของเนื้อได้ง่าย เนื้อในหัวมีสีขาวหรือเหลืองอ่อนๆ กลิ่นแรง ฉุน รสเผ็ดร้อน มีน้ำเหนียวเป็นยางอยู่ในหัว กลีบกระเทียมที่ปอกเปลือกหุ้มออก และคั่วแล้วสีเหลืองอมน้ำตาล มีกลิ่นฉุน หอม รสเผ็ดร้อน

สรรพคุณ

ภายนอก

รักษาสิว กลาก เกลื้อน – ถือว่าเป็นยาสำหรับโรคผิวหนังจากธรรมชาติ เพราะมีแอนตี้ออกซิแดนท์ที่มีฤิทธิ์ฆ่าแบคทีเรียต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

แก้ผมร่วง – กระเทียมมีสารอัลลิซิน และ ซัลเฟอร์ สูง ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องผมหลุดร่วงได้

บรรเทาอาการอักเสบจากโรคสะเก็ดเงิน – กระเทียมมีฤิทธิ์แก้อักเสบ ช่วยบรรเทาการอักเสบจากผื่นแดงที่เกิดจากโรคสะเก็ด

กำจัดกลิ่นเท้า – กระเทียมมีแอนตี้ออกซิแดนท์ที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียซึ่งรวมไปถึงเชื้อราอีกด้วย

แก้เคล็ดขัดยอก เท้าแพลง – กระเทียมมีสารที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด

 

ภายใน

แก้ความดันโลหิตสูง – กระเทียมมีสารอัลลิซินที่อาจจะมีส่วนช่วยคลายกล้ามเนื้อเรียบที่เรียงตัวในหลอดเลือดส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัวและทำให้ความดันโลหิตต่ำลงเนื่องจากเลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น

ลดน้ำหนัก ไขมัน – กระเทียมมี ซัลเฟอร์ ที่มีคุณสมบัติป้องกันภาวะอ้วน ซึ่งจะลดไขมันสะสมหรือไขมันที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ

ลดระดับคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคหัวใจ – จากงานวิจัยทั้งหมดพบว่ากระเทียมสามารถลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ได้อย่างมีนัยสําคัญ แต่ไม่สามารถลดไขมันร้ายได้ หรือ ไม่มีผลต่อไขมันดีและไขมันร้าย

มะเร็ง – กระเทียมมีสารต้านอนุมูลอิสระที่จะช่วยต้านมะเร็ง และสามารถซ่อมแซมพันธุกรรม เพิ่มจำนวนเซลล์อีกด้วย

รักษาหวัด – กระเทียมมีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ที่จะทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันในร่างกาย

แก้จุกเสียดจากลม – กระเทียมช่วยกระตุ้นการบีบตัวในลำไส้เล็กที่ทำให้ขับลมได้ดีขึ้น

ป้องกันโรคเหน็บชา ปากนกกระจอก – กระเทียมมีวิตามินบี1 บี2 บี3 และ บี6 ที่จะช่วยป้องกันโรคเหน็บชา

คำแนะนำและข้อควรระวังเกี่ยวกับกระเทียม

ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร การรับประทานกระเทียมในช่วงการตั้งครรภ์ค่อนข้างปลอดภัยหากรับประทานเป็นอาหารหรือในปริมาณที่เหมาะสม แต่อาจไม่ปลอดภัยหากรับประทานกระเทียมเป็นยารักษาโรค

เด็ก การรับประทานกระเทียมในปริมาณที่เหมาะสมและในระยะสั้น ๆ อาจปลอดภัยสำหรับเด็ก แต่การใช้กระเทียมทาบริเวณผิวหนังอาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนและระคายเคือง

ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารหรือการย่อยอาหาร อาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่ทางเดินอาหารได้

ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ การรับประทานกระเทียมอาจทำให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำลงมากกว่าปกติ

ผู้ที่วางแผนเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานกระเทียมก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์เพราะอาจทำให้เลือดออกมากและส่งผลต่อความดันโลหิตในระหว่างการผ่าตัด และผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติไม่ควรรับประทานกระเทียม โดยเฉพาะกระเทียมสด เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น

ผู้ที่อยู่ในระหว่างการรับประทานยารักษาโรค เช่น ไอโซไนอะซิด เพราะกระเทียมอาจลดการดูดซึมของยาในร่างกายและส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของยา รวมถึงไม่ควรรับประทานกระเทียมในระหว่างใช้ยาดังต่อไปนี้

ยารักษาการติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์

ยาคุมกำเนิด

ยาต้านการแข็งตัวของเลือด

ยาต้านเกล็ดเลือด

 

อ้างอิง

1.เต็ม สมิตินันท์.ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย.สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พันธุ์พืช พ.ศ.2549

2.กระเทียม.ฉบับประชาชน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์.มหาวิทยาลัยมหิดล.

3.วิธีกินกระเทียมให้เป็นยา.สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวสส.)กระทรวงสาธารณสุข.